อาลัยคุณหมอธันยะฯ โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.มนตรี กันตะบุตร

ผมรู้จักคุณหมอธันยะฯมาเกือบห้าสิบปีแล้ว ครั้งแรกที่สุดก็คือตอนผมเรียนแพทย์ที่ศิริราชปีที่สาม(สมัยนี้เรียกปีที่ห้า) ผมได้รับพระราชทานรางวัลเรียงความวันมหิดลปี 2497 ผมก็เลยได้ทราบว่าคุณหมอธันยะฯได้รับรางวัลเดียวกันกับผมนี้ แต่ท่านได้รับก่อนผมสองปี แสดงว่าคุณหมอธันยะฯชอบการประพันธ์มาตั้งแต่สมัยเรียนแพทย์ที่ศิริราช แต่ท่านเขียนดีกว่าผมมาก โดยเฉพาะบทความภาษาอังกฤษของท่านในหนังสือ"สวนดอกสี่ทศวรรษ"ที่จัดพิมพ์โดยคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปีพ.ศ 2542 หลังจากที่ท่านทราบว่าท่านเป็นมะเร็งแล้ว เป็นบทความที่ดีมาก ใครยังไม่ได้อ่านก็ไปหาอ่านเสีย เพราะทางคณะแพทยศาสตร์มช.จัดพิมพ์เล่มใหญ่ หนักประมาณสองกิโลกรัมแต่ขายเพียงเล่มละพันบาทเท่านั้น ผมถ่ายเอกสารบทความภาษาอังกฤษของท่านนี้ส่งไปให้เพื่อนฝรั่งที่อเมริกา บอกเขาว่าถ้ามีเพื่อนเป็นมะเร็ง ก็เอาบทความของหมอธันยะฯให้อ่าน จะได้ไม่ต้องมามัวกลัวนั่นกลัวนี่อีกต่อไป เพื่อนผมอ่านแล้วบอกว่าดีมากทีเดียว ได้แจกจ่ายไปให้เพื่อนที่เป็นมะเร็งอ่านหลายคน แต่กลับมีคนหนึ่งที่ตายเพราะ Heart Attack คนที่ตายคือ ภรรยาของเขาเองนั่นแหละ และมาตายที่เมืองไทยเสียด้วย
วันที่ผมเขียนบทความนี้(12 ก.ค 2543) ก็มีเพื่อนฝรั่งตายไปอีกคนหนึ่ง เป็นเพื่อนที่เล่นกอลฟ ที่สนามลานนาด้วยกันเป็นประจำ และตายด้วย Heart Attack เหมือนกัน พูดถึงโรคนี้อยากจะบอกว่า ใครรู้ตัวว่าเป็นโรคหัวใจ ก็ควรจะมียาติดตัวไว้ เท่าที่ทราบมีนักกอลฟที่มีอาการ Heart ttack ในสนามกอลฟลานนาสามสี่คนแล้ว ตอนนี้ท่านเหล่านั้นทั้งหมดไปเกิดใหม่เรียบร้อยแล้ว ยกเว้นคนเดียวที่ภรรยาท่านเป็นแพทย์ และเวลาที่ท่านมีอาการทางหัวใจนั้น คุณหมอประโยชน์(พชม.รุ่นหก)และคุณหมอโชติ(พชม.รุ่น 20)กำลังเล่นกอลฟตามหลังท่าน คุณหมอประโยชน์มียาประจำตัว คุณหมอโชติเป็นหมอดมยา เชี่ยวชาญเรื่องช่วยคนหัวใจหยุด [CPR]มาก สองท่านช่วยกันปั้มหัวใจจนรอด และยังเล่นกอลฟได้อยู่จนทุกวันนี้ หวังว่าคราวหน้าภรรยา(หมอ)ของท่านคงไม่ลืมให้มียาติดตัวไว้นะครับ
ผมขึ้นมาอยู่เชียงใหม่เมื่อ 14 ธ.ค 2503 มาอยู่บ้านไม้ใกล้ถนนสายที่ 1 ของสวนดอก บ้านไม้ของถนนนั้นมีสองหลัง ผมอยู่หลังทางทิศใต้ ส่วนคุณหมอธันยะฯซึ่งขึ้นมาอยู่เชียงใหม่หลังผมไม่นานท่านอยู่บ้านไม้ทางทิศเหนือ ผมอยู่ได้ห้าเดือนก็ขอย้ายเพราะบ้านสองหลังนี้ออกแบบได้แปลกดีมาก คือกระไดอยู่นอกบ้าน ฝนตกเมื่อไร ไม่ต้องขึ้นบนลงล่างกันละ เพราะจะต้องเปียกปอนไปหมด ผมเลยขออาจารย์หมอบุญสมไปอยู่ตึกสองชั้นแถวๆ ถังประปา แต่หมอธันยะฯแน่กว่าผม คือไม่ยอมย้าย มาย้ายไปอยู่บ้านติดประตูสวนดอกทางทิศตะวันตกทีหลัง คุณหมอธันยะฯ นี้ผมทราบว่าเมื่อจบใหม่ๆท่านเป็น แพทย์ทั่วๆไป ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน ต่อมาท่านเป็นหัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิคส์ และตำแหน่งสุดท้าย ท่านเป็นหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว ที่ท่านเป็นคนริเริ่มให้มีเป็นครั้งแรกของเมืองไทยที่คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นี้เอง
ผมและคุณหมอธันยะฯนั้น ชอบขีดๆเขียนๆกันทั้งสองคน แต่ผมแพ้ท่านเพราะผมไม่เคยมีหนังสือของผม วางขายที่ตามร้านหนังสือ แต่เมื่อผมไปที่ร้านหนังสือที่มาบุญครอง ผมพบหนังสือ"เมื่อหมอเป็นมะเร็ง" ของท่านวางขายอยู่ (ที่สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเต้อร์ก็น่าจะมีขาย) ผมกำลังจะซื้ออยู่แล้วก็มานึกได้ว่า"เอ เรายังไม่เป็นมะเร็งนี่นา เอาไว้ซื้อตอนเป็นมะเร็งแล้วดีกว่า" ว่าแล้วผมก็เปิดอ่านฟรีอยู่นาน ในหนังสือมีรูปท่านกับครอบครัว จำได้ว่ารูปหนึ่งถ่ายทั้งครอบครัว มีลูกชาย(ตั้ม) ขี่คอคุณพ่ออยู่ รูปนั้นน่ารักและอบอุ่นดีมาก ซึ่งผมอยากถ่ายแบบนั้นบ้าง ผมก็ทำไม่ได้ เพราะลูกชายของผมแต่ละคนนั้นรูปร่างใหญ่โตกว่าน้องตั้มมาก ผมรับน้ำหนักเขาไม่ไหวหรอก
ผมเรียกหมอธันยะฯว่า"หม่อม"มาตลอด ใครๆทั้งเชียงใหม่และในสวนดอกก็เรียกท่านอย่างนั้น จนวันหนึ่ง ผมไปอ่านบทความของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านเขียนไว้ว่า"อย่ามาเรียกผมว่า"หม่อม" เพราะผมไม่ใช่ "เมีย"ของหม่อมเจ้าองค์ไหน" ตั้งแต่วันนั้นผมก็เรียกเพื่อนผมว่าหมอธันยะฯตลอดมา แต่บางคนอาจเรียกท่านว่า"คุณชาย" ผมจำได้ว่าตอนขึ้นมาอยู่เชียงใหม่ครั้งแรก นั้น ท่านพ่อของท่านประทับอยู่ในบ้านไม้หลังที่ผมว่านี้ด้วย และท่านถึงชีวิตักสัย ในเวลาต่อมาไม่นาน
ครั้งหนึ่ง ผมอุตริทำคลีนิค ชื่อ"ช้างม่อยคลีนิค" มีคนท้วงว่าชื่อไม่ดี เพราะแม้แต่ช้างยัง"ม่อย" ผมก็ว่าก็คลีนิคอยู่ถนนช้างม่อย จะให้ชื่อว่าอะไรดีเล่า ก็อย่างว่าแหละครับ ผมนั่งหน้าม่อย เฝ้าร้านคนเดียวอยู่ไม่นาน คุณหมอธันยะฯก็ยุบคลีนิคของท่าน มารวมอยู่คลีนิคเดียวกับผม รวมกันอยู่ได้ไม่นาน ผมก็ยุบของผมไปเปิดใกล้ๆ ร้านสิทธิวงศ์ซึ่งอยู่ถนนช้างม่อยเหมือนกัน แต่เป็นปลายถนนอีกทิศหนึ่ง หมอธันยะฯไปเปิดคลีนิคใหม่ที่ถนนทิพยเนตร ซึ่งกิจการเจริญดีมาก ผิดกับผมที่เปลี่ยนสถานที่แต่ไม่เปลี่ยนชื่อร้าน เลย"ม่อย"ไปตามระเบียบ หลังจากนั้นเราก็ต่างคนต่างทำงานของตนเอง หมอธันยะฯอยู่ภาควิชาออร์โธปิดิคส์ ผมอยู่ภาควิชาสรีรวิทยา เราเจอกันเวลามีประชุมหัวหน้าภาควิชา กลางคืนเราเจอกันที่บ้านอาจารย์หมอระเบียบ เวลาท่านติดวงไพ่ตอง ซึ่งตอนนี้ขาไพ่ตองไปเกิดใหม่หมดแล้ว เช่นเจ้าของบ้านคืออาจารย์หมอระเบียบและคุณพิมพรรณ ฤกษ์เกษม อาจารย์หลวงนิตยเวชวิศิษฎ์ อาจารย์หมอโอกาศ พลางกูล อาจารย์หมอบุญธรรม สุนทรเกียรติ และคุณหมอธันยะฯ ที่เหลืออยู่ก็คืออาจารย์หมอบุญสม มาร์ติน อาจารย์หมอนารีศรี มหารักขกะและผมเอง ซึ่งเลิกเล่นไพ่มา 26 ปีแล้วเพราะหันไปเล่นกอลฟ ก็อีกนั้นแหละครับ ผมไปเล่นกอลฟได้ไม่นาน ก็มีข่าวว่าหมอธันยะฯรับสอนกอลฟให้ชาวสวนดอก สถานที่ที่สอนก็คือสนามหน้าบ้านท่านนั่นแหละครับ เพราะตอนหลังท่านย้ายมาอยู่บ้านหลังที่ติดประตูสวนดอกทางทิศตะวันตก ผมไม่ทราบว่าใครเป็นลูกศิษย์ของท่านบ้าง แต่ไม่ใช่ผมแน่ๆ เพราะใครเห็นวงสวิงกอลฟของผมแล้วมักสงสัยว่า" หมอมนตรีแกไปเรียนวงสวิงนี้มาจากไหนกัน(วะ)" เพราะดูๆเหมือน"ฟ้อนผีมด" ของชาวเชียงใหม่มากกว่าวงสวิงกอลฟ เดี๋ยวนี้ผมเลยต้องเล่นกอลฟคนเดียว เพราะไปเล่นกับใคร เขาก็บ่นว่า"เห็นวงสวิงของหมอมนตรีแล้วผมตีกอลฟไม่ได้" ผมเล่นกอลฟของผมแบบ"อัตตาหิ อัตตโนนาโถ" คือพึ่งตนเอง ไม่พึ่งแคดดี้ เพราะทุ่นไปวันละ 250 บาท(ค่าคูปองแคดดี้ 150 บาท ค่าทิปอีกหนึ่งร้อยบาท เพราะทิปน้อยกว่านั้นแคดดี้ทุกๆคนจะหน้างอ ไม่พอใจ) ผมเล่นกอลฟทั้งหมด 26 ปี มีแคดดี้สามคน คนละหนึ่งปี ที่ต้องเปลี่ยนแคดดี้เพราะผมทิปเพียง 20 บาท เท่านั้น ผมเลยต้องลากถุงเอง มาได้ 23 ปีแล้ว เข้าตำรา "อายุแก่ ไม้เก่า รองเท้าแตก แบกถุงเอง" ตอนนี้มีรถกอลฟอัตโนมัติ ยี่ห้อ "จิงโจ้" วิ่งได้เอง ซื้อมาจากอเมริกาคันละ 1,200 $  ให้ลูกๆแบกมาจากนอก ไม่เสียค่าขนส่งและไม่เสียภาษีขาเข้า ทุ่นเงินไปเยอะแยะ ปัจจุบันนี้นักกอลฟที่ลากถุงเอง(เบนเฮอร์) เต็มสนามไปหมดทั้งฝรั่ง ไทย และญี่ปุ่น
แล้วก็อีกนั้นแหละครับ วันดีคืนดีผมก็เห็นหมอธันยะฯ กลายเป็นเบนเฮอร์ ลากถุงกอลฟเองที่สนามลานนาเหมือนผม ซึ่งท่านคงรำคาญเรื่องค่าทิปเหมือนผม เพราะการทิปควรเป็นเรื่องของความสมัครใจ ให้เท่าใดก็ได้ ไม่ใช่ต้องมีคนมาตั้งอัตราค่าทิปเอาไว้ ที่กทม.นั้น ขากอลฟที่เล่นพนันแพงๆ(บางคนเขาว่าแคดดี้ช่วยโกงให้นาย) เขาทิปกันสองสามพันบาท มันก็น่าจะให้หรอกถ้าโกงให้นายได้เป็นหมื่นหรือเป็นแสน ผมทราบว่าตอนหลังมีการจ้างแคดดี้พิเศษ ให้มีหน้าที่คอยเฝ้าแคดดี้ฝ่ายตรงข้ามไม่ให้โกง แคดดี้คนนี้ไม่ต้องแบกหรือลากถุงกอลฟ มีหน้าทีเฝ้าเพื่อป้องกันมิให้แคดดี้ ของฝ่ายตรงข้ามโกงเท่านั้น
หมอธันยะฯหายไปจากสนามกอลฟไม่นานผมก็ไม่ได้เฉลียวใจว่าท่านเป็นมะเร็ง จนวันมหิดลของปี 2541 ผมทราบจากคุณหมอไพศิษฐ์ว่าได้ทำผ่าตัด ตัดลำไส้ใหญ่ของคุณหมอธันยะฯออกหลายฟุต ผมก็ขึ้นไปเยี่ยมท่าน คุณหมอธันยะฯก็ฝากหนังสือมาให้ดร.สาทิศ อินทรกำแหง ซึ่งเป็นผู้บรรยายพิเศษของวันมหิดลในปีนั้น เมื่อดร.สาทิศบรรยายจบเราก็ชวนกันขึ้นไปเยี่ยมหมอธันยะฯท่านทั้งสองก็เลยรู้จักกันตั้งแต่นั้น และคุณหมอธันยะฯก็เริ่มกินอาหาร"ชีวจิตร" เมื่อวันมหิดล 2541 ส่วนผมนั้นเริ่มกินอาหารมังสะวิรัติเมื่อวันมหิดล ปี 2540
คุณหมอธันยะฯกับคุณหมอเฉก ธนะศิริ นี้เหมือนๆกัน คือมีการวิ่งมาราธอนที่ไหนในประเทศไทย คุณหมอธันยะฯจะต้องไปวิ่งมาราธอนกับเขาทุกๆครั้ง คุณหมอเฉก ธนะศิริก็เหมือนกัน มีการแข่งขันว่ายน้ำที่ไหนต้องไปว่ายแข่งกับเขาและได้ชัยชนะกลับมาเสมอ คุณหมอธันยะฯ วิ่งมาราธอนคิดเป็นระยะทางรวมแล้วนับว่าไกลมากทีเดียว เรื่องวิ่งมาราธอนของคุณหมอธันยะฯ นี้ต้องถามคุณหมอไพวงศ์ สวนดอก พชม.รุ่น หกที่นครศรีธรรมราช เพราะชอบวิ่งมาราธอนด้วยกันทั้งสองคน  นอกจากนั้นผมทราบว่า ก่อนถึงแก่กรรมสามสี่ปีท่าน และภรรยาสองคนขับรถยนตร์ที่สหรัฐอเมริกาจากฝั่งตะวันตก ไปยังฝั่งตะวันออก ค่ำไหนนอนนั่น แม้กางเต๊นท์นอนก็มี นับว่าท่านได้ใช้ชีวิตของท่านคุ้มกว่าผมมาก เพราะลำพังผมเองนั้น ขับรถไปสนามลานนา ไปกลับเก้ากิโลเมตรเท่านั้นเอง ไกลกว่านั้นต้องให้คนอื่นขับเพราะตาของผมไม่ดี พาลจะชนเขาอยู่เรื่อยๆ เลยทำสติ๊กเก้อร์ติดไว้หลังรถกระบะของผมว่า"เห็นรถคันนี้ถอย โปรดระวัง"
ผมจำไม่ได้ว่าเมื่อพวกเราฉลองวันเกิดปีที่ 84 ให้คุณทิพย์ ตรีรัตน์ ชาวสวนดอกที่อายุมากที่สุด นั้น หมอธันยะฯ ไปร่วมด้วยหรือเปล่า แต่เมื่อพวกเราจัดงานบายศรีสู่ขวัญให้อาจารย์หมอบุญสม มาร์ติน ที่โรงแรมปางสวนแก้ว ผมได้พบคุณหมอธันยะฯเป็นครั้งสุดท้าย ท่านผอมลงมาก และท่านรู้ตัวด้วย ท่านบอกผมตรงๆว่า"Terminal stage" แล้ว น่ากลัวจะแย่ อาจารย์หมอชาญที่นั่งโต๊ะเดียวกับผมท่านก็บอกว่าหมอธันยะฯมี Ascitis แล้ว แต่ท่านก็ยังอุตส่าห์มา ให้พวกเราพบท่านเป็นครั้งสุดท้าย ผมยังบอกอาจารย์หมอชาญว่า ผมทราบว่าก้อนที่ตับที่เคยเท่าไข่ไก่มันเล็กลงแล้วนี่นา ทำไมมี Ascites ได้ ถ้าผมเป็นคุณหมอธันยะฯ ผมจะไม่เลิก"เคโม" ผมจะยอมใช้ Chemotherapy หลังผ่าตัดแล้ว ผมจะร่วงก็ช่างมันปะไร พราะอาจารย ์มช. ของเราที่ผมทราบมีสองท่านที่ใช้เคโมแล้วเดี๋ยวนี้ยังอยู่สุขสบายดี โรคมะเร็งนี้ ผมว่าต้องหมอแผนปัจจุบันเป็นผู้รักษา ส่วน พวกสมุนไพร ชีวจิตร สมาธิ พลังจักรวาล โยเร ฯลฯ นั้นควรใช้กับโรคอื่นๆ ไม่ควรใช้กับมะเร็งและเอดส์และโรคสุนัขบ้า
เป็นสุขเถิดคุณหมอธันยะฯที่รัก เราเคยเปิดคลีนิคร่วมกัน เล่นไพ่ตองวงเดียวกัน และเล่นกอลฟสนามเดียวกัน ทำงานในคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เหมือนกัน ตอนนี้ผมต้องขอให้ท่านไปเปิดคลีนิคล่วงหน้าให้ผม เปิดวงไพ่ตอง และจองสนามกอลฟไว้ให้ผม ซึ่งก็คงตามเพื่อนไปในไม่ช้านี้ หวังว่าสนามกอลฟที่หมอธันยะฯจะไปจองไว้ก่อนให้ผมไปเล่นนั้น เขาคงยอมให้เราลากรถกอลฟเองโดยไม่ใช้แคดดี้นะครับ
คุณหมอธันยะฯย้ายมาสังกัดคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พร้อมๆกับผม เรามีลูกสี่คนเหมือนกัน แต่ของหมอธันยะฯชายหนึ่งหญิงสาม ของผมนั้น ชายสามหญิงหนึ่ง ลูกของเราสี่คนอายุไร่เรี่ยกัน (แต๋มกับแพ็ตเป็นสมาชิกแก๊งค์สายรุ้งด้วยกัน) เราสองคนได้เป็นข้าราชการชั้นพิเศษ(C 10) พร้อมกัน ได้เป็นศาสตราจารย์วันเดียวกัน เราสองคนเกษียณอายุราชการพร้อมกัน เราสองคนได้รับพระราชทานตำแหน่ง "ศาสตราจารย์เกียรติคุณ" วันเดียวกัน
แต่ชีวิตในโลกหน้า นั้น คุณหมอธันยะฯคงได้เป็นอะไรต่อมิอะไรก่อนผม ไปดีเถอะเพื่อน...